สมาคมโรงเรียนมอนเตสซอรี่ ประเทศไทย

ในฐานะองค์กรที่เกี่ยวข้องกับการจัดการศึกษาตามแนวคิดของแพทย์หญิงมาเรีย มอนเตสซอรี่ ในประเทศไทย จึงได้จัดให้มีงาน “100 ปี มอนเตสซอรี่ : จากอดีตถึงปัจจุบัน...สู่อนาคตของมอนเตสซอรี่ในบริบทไทย ” ขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์ดังนี้

  • - เพื่อให้ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับเด็กได้ตระหนักถึงความสำคัญของเด็กในฐานะพลเมืองและพลโลก
  • - เพื่อเป็นการรำลึกถึงที่มาของการศึกษาแบบมอนเตสซอรี่ทั้งในประเทศไทยและระดับสากล
  • - เพื่อร่วมฉลองครบรอบ 100 ปี มอนเตสซอรี่กับโรงเรียนและองค์กรต่างๆทั่วโลก
  • - เพื่อร่วมประกาศเจตนารมณ์และสนับสนุนกระบวนการขับเคลื่อนการศึกษาที่คำนึงถึงเด็กเป็นสำคัญ และมีเป้าหมายเพื่อเด็กทุกคนทั้งในระดับประเทศและในระดับโลก
  • - เพื่อเป็นโอกาสให้ผู้คนจากทุกส่วนของสังคมได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อนการศึกษาแบบมอนเตสซอรี่ และ เพื่อให้เกิดความร่วมมือระหว่างองค์กรหน่วยงานต่างๆ ที่มีจุดมุ่งหมายร่วมกัน คือ “เพื่อเด็ก”
  • - เพื่อเผยแพร่การศึกษาตามแนวคิดของ แพทย์หญิงมาเรีย มอนเตสซอรี่ ที่ยึดเด็กเป็นสำคัญ ให้เป็นที่รู้จักและเข้าใจอย่างแพร่หลาย

การก่อตั้งสมาคม

สมาคมโรงเรียนมอนเตสซอรี่ ประเทศไทย (TAMS) ได้รับอนุญาตให้จัดตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม พุทธศักราช 2546 โดยมีนางคำแก้ว ไกรสรพงษ์ ซึ่งเป็นผู้บริหารโรงเรียนอนุบาลกรแก้ว โดยการจัดตั้งสมาคมในครั้งนี้เพื่อเผยแพร่แนวคิด วิธีการ การจัดการเรียนการสอน และข้อมูลต่างๆ เกี่ยวกับการเรียนการสอนแบบมอนเตสซอรี่ขึ้น

แถวนั่ง จากซ้าย: Mr.Bruce Kennedy, อาจารย์คำแก้ว ไกรสรพงษ์, ดร.ประชุมพร สุวรรณตรา, Mr.Willem Van Benthum
แถวยืน จากซ้าย: คุณประสิทธิ์ เอ่งฉ้วน, Mr.Erik Ramm, Ms.Emma Wardell, พญ.สุษมา อุปรา, คุณราตรี มโนหาญ. คุณนิสากร พิมพ์ทอง

เป้าหมาย

  1. เป็นศูนย์กลางแลกเปลี่ยนความรู้ ความคิดเห็น ประสบการณ์ และเผยแพร่ข่าวสาร ข้อมูลระหว่างโรงเรียนที่จัดการเรียนการสอนในระบบมอนเตสซอรี่
  2. ให้การส่งเสริมและพัฒนาการจัดการเรียนการสอนแบบมอนเตสซอรี่
  3. ร่วมมือและประสานงานกับองค์กรเอกชนและกระทรวงศึกษาธิการจัดการอบรมและจัดกิจกรรมต่างๆ เกี่ยวกับการสอนในระบบมอนเตสซอรี่
  4. ศึกษาค้นคว้า วิจัย เกี่ยวกับการพัฒนาโรงเรียนที่ใช้ระบบการสอนในระบบมอนเตสซอรี่
  5. ประสานประโยชน์ระหว่างองค์กรเอกชนทั้งในประเทศและต่างประเทศ

สาส์นจากที่ปรึกษากิตติมศักดิ์

คุณหญิง บุญเลื่อน เครือตราชู

อดีตอธิบดีกรมสามัญศึกษา

โรงเรียนมอนเตสซอรี่ระดับชั้นประถมศึกษา เป็นความก้าวหน้าต่อเนื่องมาจากโรงเรียนในระดับชั้นอนุบาล ซึ่งได้มีการวางรากฐาน เพื่อความสำเร็จ เพื่อการเจริญเติบโต และเพื่อการพัฒนาของเด็ก แพทย์หญิงมาเรีย มอนเตสซอรี่ พบว่าความต้องการและคุณลักษณะของเด็กในแต่ละช่วงวัยของการพัฒนา เป็นปัจจัยสำคัญในการสร้างสิ่งแวดล้อมสำหรับตัวเด็กที่จะได้เรียนรู้ตามศักยภาพของตนเอง

เด็กๆ จะเปลี่ยนแปลงไปอย่างมากในช่วงอายุ ๖ ปี และสิ่งแวดล้อมของชั้นเรียนแบบมอนเตสซอรี่ ก็จะเปลี่ยนแปลงไปเพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของเด็กเอง เด็กจะมีความเฉลียวฉลาดในเรื่องของธรรมชาติ และเริ่มก้าวหน้าในการเรียนรู้อย่างช้าๆ จากสิ่งที่เป็นรูปธรรม ไปสู่ความเป็นนามธรรม เด็กๆจะพัฒนาในด้านคุณธรรมและด้านจินตนาการ ซึ่งมีพื้นฐานจากความเป็นจริงที่ตนรู้จัก พวกเด็กๆ จะเรียนรู้โดยไม่ต้องใช้ความพยายามแต่อย่างใด เนื่องจากความรักในการเรียนรู้เป็นสิ่งใหม่ที่เด็กๆ เพิ่งค้นพบ เด็กจะเรียนรู้โดยการค้นพบ การศึกษาทฤษฎีทั้งหลาย และสร้างทฤษฎีเหล่านั้นในแบบของตนเอง การเรียนรู้จะเกิดจากการสำรวจด้วยตนเอง การมีจินตนาการและความคิดสร้างสรรค์ ซึ่งทำให้เกิดความเข้าใจในความรู้และความคิดรวบยอด

คุณหญิง กษมา วรวรรณ ณ อยธุยา

เลขาธิการคณะกรรมการการ
ศึกษาขั้นพื้นฐาน

คำนิยม
ของเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน

แนวทางในการพัฒนาเด็กตามรูปแบบของ Dr. Maria Montessori เป็นที่ยกย่องยอมรับมาเกือบหนึ่งศตวรรษ จึงเป็นที่ น่ายินดีที่ในประเทศไทยได้มีโรงเรียนจำนวนหนึ่งสามารถนำหลักการดังกล่าวพัฒนาบริบทที่หลากหลาย จนเกิด ประโยชน์อย่างยิ่ง แก่วงการการศึกษาไทย ทั้งยังได้รวมตัวเป็นสมาคมส่งเสริมการเรียนรู้เพื่อเด็กเป็นสำคัญ (Thailand Association of Montessori Schools) โดยมีวัตถุประสงค์ที่จะเผยแพร่แนวคิด วิธีการข้อมูลและงานวิจัยต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับมอนเตสซอรี่ ตลอดจนถึงการอบรมครูมอนเตสซอรี่ จากการไปเยี่ยมโรงเรียนเหล่านี้ ทั้งในกรุงเทพมหานคร เช่น โรงเรียนอนุบาลกรแก้ว และในต่างจังหวัด เช่น โรงเรียนปิติศึกษา ตลอดจนโรงเรียนที่ได้นำหลักการไปประยุกต์ใช้ เช่น โรงเรียนบ้านทุ่งพรหม ที่จังหวัดนครปฐม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ความพยายาม ของอาจารย์ คำแก้ว ไกรสรพงษ์ นายกสมาคมส่งเสริมการเรียนรู้เพื่อเด็กเป็นสำคัญ ที่ได้นำเทคนิควิธีการไปช่วย โรงเรียนอนุบาลใน 3 จังหวัดชายแดน ภาคใต้ ทำให้เกิดความประทับใจในพลังความยิ่งใหญ่ของแนวความคิด ที่สามารถนำมาแก้ปัญหา และพัฒนาโรงเรียนไทย ในบริบทที่ต่างกัน

ขอเป็นกำลังใจ และ ขอร่วมอำนวยพรให้กิจกรรมของสมาคมส่งเสริมการเรียนรู้เพื่อเด็กเป็นสำคัญ เจริญก้าวหน้า และเป็นหลักในการเผยแพร่ ปรับประยุกต์แนวทางที่มีคุณค่านี้สืบไป

สาส์นจากนายกสมาคม

อาจารย์ คำแก้ว ไกรสรพงษ์

นายกสมาคมส่งเสริมการเรียนรู้
เพื่อเด็กเป็นสำคัญ

อาจารย์ คำแก้ว ไกรสรพงษ์

จากอดีตถึงปัจจุบัน...สู่อนาคตของการสอนแบบมอสเตสซอรี่ในบริบทไทย

เมื่อกว่า 20 ปีที่แล้ว การสอนแบบมอนเตสซอรี่ยังไม่เป็นที่แพร่หลายนักสำหรับประเทศไทยกระทั่ง คุณหญิง บุญเลื่อน เครือตราชู ได้แนะนำให้นำระบบการสอนนี้มาใช้ในโรงเรียนอนุบาลกรแก้ว โดย รศ.ดร. จีระพันธุ์ พูลพัฒน์ เป็นผู้ฝึกหัดครู และเมื่อมีการปฏิรูปการศึกษา พรบ.การศึกษาได้เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ สอดคล้องกับการสอนแบบมอนเตสซอรี่ จึงทำให้ การสอนแบบมอนเตสซอรี่ ได้รับการยอมรับและเป็นที่แพร่หลายยิ่งขึ้น

จากวันนั้นถึงปัจจุบัน ได้มีการเผยแพร่การสอนแบบมอนเตสซอรี่ ในบริบทไทยทั้วประเทศด้วยความร่วมมือจากกรรมการ ทั้ง 8 โรงเรียนของสมาคมส่งเสริมการเรียนรู้เพื่อเด็กเป็นสำคัญ ในโอกาสครบรอบ 100 ปี ของการศึกษาแบบ มอนเตสซอรี่นี้ ในนามของสมาคมฯ เราจะร่วมมือกันประกาศเจตนารมณ์และคำมั่นสัญญา ขับเคลื่อนการศึกษาที่มี เป้าหมายเพื่อเด็กทุกคนทั้งในระดับประเทศ และ ระดับโลก โดยจะขอให้ทุกส่วนของสังคม ได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งของ การขับเคลื่อนดังกล่าว เพื่อไปสู่จุดหมายเดียวกัน คือ “เด็ก”

กรรมการบริหาร

ดร. คำแก้ว ไกรสรพงษ์

นายกสมาคม

ดร. ชญช์ทิเนษต์ นิ่มสมบุญ

ที่ปรึกษา

ดร. ประชุมพร สุวรรณตรา

ที่ปรึกษา

พ.ญ. สุษมา อุปรา

เลขานุการ

คุณสุวิมล สถิตสุขเสนาะ

อุปนายก

คุณชนัตฐา ชินสุภัคกุล

ปฏิคม

คุณชัยณรงค์ ฉิมชูใจ

เหรัญญิก/นายทะเบียน

ดร. นิสสากร พิมพ์ทอง

อุปนายก